หวานน้อย สุขภาพดี
คำถามที่สำคัญก็คือควรกินน้ำตาลเท่าใดในแต่ละวันจึงจะอยู่ในระดับที่ปลอดภัย
เนื่องจากอาหารผ่านกระบวนการผลิตที่เราบริโภคแทบทุกชนิดล้วนใส่น้ำตาลกันในปริมาณไม่น้อยโดยเฉพาะเครื่องดื่มต่างๆขนมของหวาน รวมไปถึงผลไม้ในแต่ละวันกันอยู่แล้วดังนั้น คำแนะนำขององค์การอนามัยโลก จึงค่อนข้างเคร่งครัด ตัวเลขที่แนะนำจึงเกี่ยวพันกับส่วนของ “น้ำตาลที่เติมเข้าไป” ด้วยตัวเราเอง เช่น จากเครื่องดื่มชากาแฟ น้ำตาลตักใส่อาหาร อาหารจานด่วน น้ำหวาน ขนมหวาน ฯลฯ
ตัวเลขคือไม่ควรกินน้ำตาลชนิด “เติมเข้าไป” เกินกว่า 6 ช้อนชาต่อวัน (24 กรัม) ซึ่งเป็นการปรับตัวเลขลงหลังจากพบการเชื่อมโยงกับหลายโรคโดยเฉพาะโรคมะเร็ง เดิมชายไม่ควรเกิน 9 ช้อนชาต่อวัน ส่วนหญิงไม่เกิน 6 ช้อนชา
“6 ช้อนชา” ไปได้ไกลแค่ไหนต่อวัน?
ลองดูตัวเลขจากงานศึกษา
(ก) ช็อกโกแลตแท่งเล็ก มีน้ำตาลประมาณ 4.9 ช้อนชา
(ข) เครื่องดื่มชูกำลังกระป๋องเล็ก 4.1 ช้อนชา
(ค) เครื่องดื่มกระป๋องน้ำดำ 5.6 ช้อนชา
(ง) น้ำส้มครึ่งลิตร 7.5 ช้อนชา
(จ) น้ำแดงโซดา 15.5 ช้อนชา
(ฉ) ชามะนาว 12.6 ช้อนชา
(ช) ชาดำเย็น 12.5 ช้อนชา
(ซ) นมเย็น 12.3 ช้อนชา
สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) สำรวจและพบว่าน้ำแดงโซดานั้นเป็นเครื่องดื่มยอดฮิตของคนไทย (ชอบมากจนเผื่อเอาไปบูชารูปปั้นกัน แม้แต่ในสนามบินสุวรรณภูมิ) รวมทั้งอีก 3 ชนิดหลังด้วยบวกกับการชอบใส่น้ำตาลในอาหาร ชากาแฟ และเครื่องดื่มที่สุดหวานต่างๆ สถิติวิจัยการบริโภคน้ำตาลชนิด “เติมเพิ่ม” ของคนไทยคือวันละ 28 ช้อนชาต่อวัน ซึ่งสูงกว่าตัวเลขปลอดภัยเกือบ 5 เท่าตัว
ในตอนเย็นแทบทุกหน้าโรงเรียน เราจะเห็นการขายลูกชิ้นทอดในน้ำมันซึ่งใช้มาแล้วไม่รู้กี่ครั้ง สารพัดเครื่องดื่มสุดหวาน ไอศครีม เครื่องดื่ม ของกรุบกริบที่แสนเค็ม ฯลฯ พฤติกรรมเช่นนี้น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งเพราะเด็กเหล่านี้คือสมบัติที่มีค่าของสังคมเราทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ในเรื่องความสัมพันธ์ของน้ำตาลกับมะเร็งนั้น งานวิจัยล่าสุดที่ศึกษาถึง 7 ปี โดยความร่วมมือของสถาบันวิจัยเบลเยียม VIB–KU Leuven (2008-2017) พบในห้องทดลองว่าเซลล์มะเร็งต้องการน้ำตาลเป็นอาหารมากกว่าเซลล์ปกติแทบทุกชนิดของร่างกาย อีกทั้งพบว่าการบริโภคน้ำตาลเกินความพอดีมีความสัมพันธ์อย่างเด่นชัดกับการเติบโตของเซลล์มะเร็ง
น้ำตาลมีประโยชน์มหาศาลต่อร่างกาย แต่ประเด็นอยู่ที่การบริโภคเป็นปริมาณมากเกินความพอดีเป็นเวลายาวนานอย่างเป็นนิสัยเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสุขภาพ สิ่งที่ต้องระวังก็คือการเสพติดน้ำตาลขนาดหนักจนทำให้ต้องการเสพเป็นปริมาณมากยิ่งขึ้น ซึ่งมีโอกาสสูงมากที่จะนำไปสู่ปัญหาสุขภาพในเวลาไม่นาน
*ขอบคุณที่มา คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับอังคารที่ 26 ธ.ค. 2560